รู้จัก COPAYMENT กุญแจสำคัญในการทำประกันสุขภาพ
พาคุณมาทำความรู้จักกับ Copayment อีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการทำประกันสุขภาพ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีประกันสุขภาพฉบับแรกอยู่แล้ว หรือมีสวัสดิการประกันกลุ่มจากบริษัทที่คุณทำงาน และกำลังวางแผนหาข้อมูลทำประกันสุขภาพเพิ่มเติม บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจประโยชน์และความสำคัญ และเลือกทำประกันสุขภาพได้เหมาะกับคุณที่สุด
Copayment ในประกันสุขภาพ คืออะไร ?
Copayment หรือ ค่าร่วมจ่าย ในประกันสุขภาพ เป็นเงื่อนไขที่ผู้เอาประกันภัยต้องมีส่วนร่วมจ่ายค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในบางส่วน เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ต้องเคลมประกัน โดยจะกำหนดเป็นอัตราส่วนเปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันสุขภาพ เช่น หากกรมธรรม์ระบุว่าเป็น Copayment 20% หมายความว่า ผู้เอาประกันภัยจะร่วมจ่ายค่าใช้จ่าย 20% ของค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในทั้งหมด ส่วนอีก 80% บริษัทประกันจะเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของประกันสุขภาพที่เรียกว่า ประกันสุขภาพแบบที่มีส่วนร่วมจ่าย
Copayment กับ Deductible ต่างกันอย่างไร ?
Copayment และ Deductible เป็นสองเงื่อนไขที่พบได้ในกรมธรรม์ประกันสุขภาพ ทั้งสองรูปแบบนี้เกี่ยวข้องกับส่วนที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล แต่มีรูปแบบที่แตกต่างกัน
Copayment (ค่าร่วมจ่าย): เป็นการกำหนดให้ผู้เอาประกันภัยร่วมจ่ายค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในอัตราส่วนที่กำหนด เช่น 20% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
- ตัวอย่าง: หากค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด 100,000 บาท และมี Copayment 20% ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมจ่าย 20,000 บาท และบริษัทประกันภัยจ่าย 80,000 บาท
- รูปแบบการจ่าย: ผู้เอาประกันภัยร่วมจ่ายเป็นอัตราส่วน % ที่คงที่ ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ โดยค่าใช้จ่ายที่ร่วมจ่ายจะเปลี่ยนแปลงไปตามค่ารักษาพยาบาลแต่ละครั้ง
Deductible (ความรับผิดชอบส่วนแรก): เป็นจำนวนเงินคงที่ที่ผู้เอาประกันภัยรับผิดชอบเองส่วนแรกก่อนที่บริษัทประกันภัยจะเริ่มมอบความคุ้มครอง
- ตัวอย่าง: หาก Deductible อยู่ที่ 10,000 บาท เมื่อมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบส่วนแรกโดยจ่าย 10,000 บาทก่อน แล้วบริษัทประกันภัยจึงจะเริ่มจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เหลือให้ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์
- รูปแบบการจ่าย: จำนวนเงินค่ารับผิดชอบส่วนแรกที่ต้องจ่ายคงที่ ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
ประโยชน์และความสำคัญของ Copayment
- ช่วยลดค่าเบี้ยประกันภัยให้ถูกลง: การมี Copayment ในกรมธรรม์ประกันสุขภาพ ช่วยให้ผู้เอาประกันภัยมีส่วนร่วมจ่ายเป็นอัตรา % คงที่ และทำให้ค่าเบี้ยประกันภัยถูกลงได้ตามจำนวน Copayment ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของบริษัทประกัน แผนประกัน และอัตราส่วนของค่าร่วมจ่ายที่เลือกเช่นกัน
- ใช้ร่วมกับประกันสุขภาพฉบับอื่นได้: ในกรณีที่มีประกันสุขภาพ สวัสดิการรัฐหรือสวัสดิการประกันกลุ่มของบริษัทอยู่แล้ว สามารถใช้ควบคู่ในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ เรียกได้ว่าประกันสุขภาพแบบที่มีส่วนร่วมจ่าย เหมาะกับผู้ที่มีประกันสุขภาพฉบับอื่น ๆ ก่อนหน้าอยู่แล้ว
- เพิ่มวงเงินความคุ้มครอง: ในกรณีที่ประกันสุขภาพ สวัสดิการรัฐหรือสวัสดิการของบริษัทที่มีอยู่เดิมมีวงเงินจำกัดหรือมีความคุ้มครองไม่เพียงพอหรืออาจไม่ครอบคลุม ประกันแบบมี Copayment จะเข้ามาเป็นส่วนเสริมในการคุ้มครองโรคและเพิ่มวงเงินการรักษาพยาบาลได้
- เข้าถึงประกันสุขภาพได้ง่ายยิ่งขึ้น: เนื่องจากการมี Copayment ในกรมธรรม์ประกันสุขภาพช่วยให้ค่าเบี้ยประกันภัยถูกลง จึงมีส่วนช่วยให้ผู้ที่สนใจทำประกันสุขภาพเข้าถึงการทำประกันสุขภาพที่เหมาะกับตนเองได้ง่ายขึ้น โดยบางแผนประกันสามารถเลือกจ่ายเบี้ยประกันภัยแบบรายปี หรือแบบรายเดือนได้ ช่วยให้สามารถวางแผนค่าใช้จ่ายได้สะดวกยิ่งขึ้น
- ช่วยบริหารจัดการค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ: ประกันสุขภาพแบบที่มีส่วนร่วมจ่าย หรือ Copayment มีส่วนสำคัญในการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยในได้ค่อนข้างมาก อีกทั้งยังช่วยให้ผู้เอาประกันภัยมีส่วนร่วมในการพิจารณาตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้บริการทางการแพทย์อีกด้วย
การทำประกันสุขภาพ นับเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน ที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของการเจ็บป่วย โดยประกันสุขภาพบางแผน จะมอบทั้งความคุ้มครองชีวิต รวมไปถึงความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล การเข้าพักรักษาตัวจากโรคร้ายแรง ตลอดจนค่าห้องพักกรณีเข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยหรือบำบัดรักษาอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ หากไม่มีประกันสุขภาพช่วยดูแล คุณจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดทุกครั้งที่เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล ดังนั้นการทำประกันสุขภาพไว้ ไม่นับว่าเป็นการจ่ายเบี้ยประกันภัยทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่เป็นตัวช่วยบริหารความเสี่ยง ลดภาระทางการเงินยามเจ็บป่วย หากคุณกำลังสนใจทำประกันสุขภาพ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม ลองกดคำนวณเบี้ย และซื้อประกันสุขภาพ ออนไลน์ด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ ไม่ต้องตรวจสุขภาพ
อ้างอิง: TFPA.or.th, oic.or.th, lumahealth.com