รู้จักเรา

Common Reporting Standard: CRS

เอกสารการรับรองตนเองคืออะไร

          การแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ (Automatic Exchange of Financial Account Information: AEOI) เป็นการดำเนินการตามมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ (Common Reporting Standard: CRS) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ โดยสากล ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization of Economic Co-operation and Development: OECD) เพื่อต่อต้านการหลีกเลี่ยงภาษี ทั้งนี้ AEOI อ้างถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินระหว่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยับยั้งและตรวจพบการหลีกเลี่ยงภาษีโดยผู้มีหน้าที่เสียภาษีผ่านการใช้บัญชีธนาคารในต่างประเทศ

          บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย และ/หรือบริษัทร่วม (ต่อไปจะเรียกว่า “บริษัท”) ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่เกี่ยวข้องของประเทศทั้งหมดที่บริษัทดำเนินธุรกิจและข้อบังคับเกี่ยวกับ AEOI มีผลบังคับใช้

          บริษัทต้องเก็บข้อมูลบางเรื่องและเอกสารอ้างอิงจากลูกค้าเพื่อกำหนดถิ่นที่อยู่ทางภาษีและ (หากสามารถปฏิบัติได้) สถานะการจัดประเภท เพื่อการปฏิบัติตามข้อบังคับที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการด้าน AEOI ทั้งนี้ ในบางเหตุการณ์บริษัทอาจจำเป็นต้องรายงานข้อมูลดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ทางภาษีที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลดังกล่าวอาจถูกแลกเปลี่ยนหรือรายงานแก่หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ทางภาษีที่เกี่ยวข้องในประเทศอื่นตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

เหตุผลที่บริษัทต้องจัดให้ลูกค้าตอบเอกสารการรับรองตนเอง

          บริษัทถือเป็นผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลบัญชีทางการเงินของลูกค้าที่มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในรัฐคู่สัญญา ดังนั้น เมื่อลูกค้ามีการสมัครทำประกันชีวิต กฎหมาย (กฎกระทรวงออกตามความพระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566) กำหนดให้บริษัทต้องจัดให้ได้มาซึ่งเอกสารการรับรองตนเอง เพื่อบริษัทสามารถพิจารณาถิ่นที่อยู่เพื่อจุดประสงค์ทางภาษีอากรของลูกค้าได้ และต้องสามารถยืนยันความน่าเชื่อถือของเอกสารการรับรองตนเองดังกล่าวจากข้อมูลที่บริษัทได้รับมาจากการสมัครทำประกันชีวิตดังกล่าว

ใครมีหน้าที่ต้องกรอกเอกสารการรับรองตนเองฉบับนี้

          โปรดกรอกเอกสารการรับรองตนเองฉบับนี้ หากท่านเป็นผู้ถือบัญชี ทั้งนี้ ท่านสามารถศึกษาคำนิยามเพิ่มเติมของผู้ถือบัญชีได้ในหัวข้อ“คำนิยาม”

ท่านจะทราบถิ่นที่อยู่ทางภาษีของท่านได้อย่างไร

          ถิ่นที่อยู่ทางภาษีถูกนิยามตามกฎหมายด้านภาษีของแต่ละประเทศและอาจมีความแตกต่างกัน บุคคลหนึ่งจึงอาจมีถิ่นที่อยู่ทางภาษีมากกว่า 1 ประเทศได้ ดังนั้น ท่านต้องนำส่งข้อมูลในเอกสารฉบับนี้อย่างถูกต้องและครบถ้วนแก่บริษัท ทั้งนี้ บริษัทไม่สามารถให้คำแนะนำด้านภาษี แก่ท่านได้ หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสถานะทางถิ่นที่อยู่ทางภาษีหรือประเด็นที่เกี่ยวข้อง ท่านสามารถปรึกษาผู้แนะนำด้านภาษีหรือติดต่อหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ทางภาษีที่เกี่ยวข้องเพื่อขอคำแนะนำ นอกจากนี้ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่ทางภาษีได้ที่ http://www.oecd.org/tax/automatic-exchange/crs-implementation-and-assistance/tax-residency/

ท่านต้องกรอกเอกสารการรับรองตนเองฉบับนี้เมื่อไร

          โปรดกรอกเอกสารการรับรองตนเอง หากท่านเป็นผู้ถือบัญชีซึ่งสมัครทำประกันภัยหรือเปิดบัญชีกองทุน โดยเอกสารการรับรองตนเองสามารถใช้ได้จนกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติการณ์ ซึ่งอาจส่งผลให้ข้อมูลในเอกสารการรับรองตนเองไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน (เช่น การเปลี่ยนแปลงประเทศที่ท่านมีถิ่นที่อยู่ทางภาษี หรือหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี) ในกรณีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติการณ์ ท่านต้องส่งเอกสารการรับรองตนเองฉบับใหม่ที่ถูกต้องมายังบริษัทภายใน 30 วันนับตั้งแต่เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติการณ์

 

คำนิยาม

 

          รายการคำนิยามต่อไปนี้เป็นเพียงตัวอย่างเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ท่านในการกรอกเอกสารการรับรองตนเองฉบับนี้ หากท่านมีข้อสงสัย โปรดติดต่อผู้แนะนำด้านภาษี ด้านกฎหมาย และ/หรือด้านอื่น ๆ ของท่าน

ผู้ถือบัญชี

 ผู้ถือบัญชี หมายถึง บุคคลซึ่งเป็นลูกค้าที่มีชื่อหรือถูกระบุชื่อเป็นผู้ถือบัญชีทางการเงินโดยสถาบันการเงินที่ดูแล เก็บรักษาบัญชีนั้น

          นอกเหนือจากสถาบันการเงิน ในกรณีที่ตัวแทน ผู้รักษาสินทรัพย์ นอมินี ผู้มีอำนาจในการลงนาม ที่ปรึกษาการลงทุน หรือตัวกลาง เป็นผู้ถือบัญชีทางการเงินเพื่อประโยชน์หรือเพื่อบุคคลอื่น ไม่ให้ถือว่าบุคคคลดังกล่าวเป็นผู้ถือบัญชีตามวรรคหนึ่ง แต่ให้ถือว่าบุคคลอื่นนั้นเป็น ผู้ถือบัญชีตามวรรคหนึ่ง

      ในกรณีสัญญาประกันภัยแบบมูลค่าเงินสดหรือแบบจ่ายรายปี ให้ผู้ถือบัญชีตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ บุคคลที่มีสิทธิเข้าถึงมูลค่าเงินสดหรือ มีสิทธิเปลี่ยนแปลงผู้รับผลประโยชน์ตามสัญญาดังกล่าว ทั้งนี้ หากไม่มีบุคคลใดสามารถเข้าถึงมูลค่าเงินสดหรือเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์ ตามสัญญาดังกล่าวนั้นได้ ให้ผู้ถือบัญชีตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ บุคคลใด ๆ ที่มีการระบุชื่อในสัญญาว่าเป็นเจ้าของบัญชี และบุคคลใด ๆ ที่มีสิทธิ ในเงินที่จ่ายภายใต้เงื่อนไขของสัญญาดังกล่าวนั้น

             ในกรณีเมื่อครบกำหนดสัญญาประกันภัยแบบมูลค่าเงินสดหรือแบบจ่ายรายปี ให้ถือว่าบุคคลแต่ละรายที่มีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาเป็น ผู้ถือบัญชีตามวรรคหนึ่ง

ผู้มีอำนาจควบคุม

ผู้มีอำนาจควบคุม หมายถึง

  1. บุคคลธรรมดาที่มีอำนาจควบคุมเหนือนิติบุคคล
  2. ผู้ก่อตั้งทรัสต์ ทรัสตี ผู้คุ้มครอง ผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง หรือผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงที่จำแนกตามประเภท และบุคคลธรรมดาอื่นใดที่มีอำนาจควบคุมสูงสุดเหนือกองทรัสต์ ในกรณีของกองทรัสต์
  3. บุคคลที่มีฐานะเทียบเท่าหรือคล้ายกัน ในกรณีของหน่วยที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายอื่น ๆ นอกเหนือจากกองทรัสต์ ผู้มีอำนาจควบคุมตามวรรคหนึ่งให้ตีความในลักษณะที่สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปรามปรามการฟอกเงินของประเทศไทย

ผู้มีอำนาจควบคุมตามวรรคหนึ่งให้ตีความในลักษณะที่สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปรามปรามการฟอกเงินของประเทศไทย

บัญชีทางการเงิน

บัญชีทางการเงิน หมายถึง บัญชีที่อยู่ภายใต้การดูแล เก็บรักษาของสถาบันการเงิน และให้หมายความรวมถึง

  1. บัญชีเงินฝาก
  2. บัญชีดูแลสินทรัพย์
  3. ส่วนได้เสียในส่วนทุนหรือส่วนหนี้ในสถาบันการเงินซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุน เว้นแต่ ในกรณีที่สถาบันการเงินเป็นนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุนเพียงเพราะ
    1. ) ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการลงทุนแก่และดำเนินการในนามของลูกค้าสำหรับการลงทุน บริหาร หรือจัดการสินทรัพย์ทาง การเงินที่ฝากไว้ในนามของลูกค้ากับสถาบันการเงินนอกจากนิติบุคคลดังกล่าว หรือ
    2. ) บริหารจัดการพอร์ตการลงทุนเพื่อและดำเนินการในนามของลูกค้าสำหรับการลงทุน บริหาร หรือจัดการสินทรัพย์ทาง การเงินที่ฝากไว้ในนามของลูกค้ากับสถาบันการเงินนอกจากนิติบุคคลดังกล่าว
  4. ส่วนได้เสียในส่วนทุนหรือส่วนหนี้ในสถาบันการเงินที่นอกเหนือจาก 3. หากมีการจัดประเภทของส่วนได้เสียดังกล่าวโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงหน้าที่การรายงานตาม พระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566 และ
  5. กรมธรรม์ประกันภัยมูลค่าเงินสดและกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบเงินรายปีใด ๆ ที่ออกหรือดำรงไว้โดยสถาบันการเงิน นอกเหนือจากกรมธรรม์ประกันภัยแบบบำนาญที่ต้องจ่ายเงินทันทีแบบที่ไม่สามารถเปลี่ยนมือได้ และไม่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ซึ่งออกให้กับบุคคลธรรมดาและเป็นการจ่ายในรูปแบบของบำนาญหรือผลประโยชน์ในกรณีที่ตกเป็นบุคคลทุพพลภาพจากบัญชี ซึ่งถือว่าเป็นบัญชีที่ได้รับยกเว้น

บัญชีทางการเงินตามวรรคหนึ่ง ไม่ให้หมายรวมถึงบัญชีที่ได้รับยกเว้น

คู่สัญญาที่เข้าร่วม

คู่สัญญาที่เข้าร่วม หมายถึง รัฐหรือภาคีตามความตกลงที่มีรายชื่อปรากฏตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยรายชื่อคู่สัญญาที่เข้าร่วมที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

บัญชีทางการเงินที่ต้องถูกรายงาน

บัญชีทางการเงินที่ต้องถูกรายงาน หมายถึง บัญชีทางการเงินที่อยู่ภายใต้การดูแล เก็บรักษาของผู้มีหน้าที่รายงานที่เป็นสถาบันการเงิน ซึ่งถูกถือโดยผู้ที่ต้องถูกรายงานรายเดียวหรือหลายราย หรือโดยแพสซิฟเอ็นเอฟอี ซึ่งมีผู้มีอำนาจควบคุมรายเดียวหรือหลายรายเป็นผู้ที่ต้องถูกรายงาน

คู่สัญญาที่จะได้รับรายงาน

คู่สัญญาที่จะได้รับรายงาน หมายถึง รัฐหรือภาคีตามความตกลงที่มีรายชื่อปรากฏตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยรายชื่อคู่สัญญาที่จะได้รับรายงานที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ผู้ที่ต้องถูกรายงาน

ผู้ที่ต้องถูกรายงาน หมายถึง ผู้ที่ต้องถูกรายงานของคู่สัญญา และไม่ให้หมายความรวมถึง

  1. บริษัทที่มีการซื้อขายหุ้นเป็นปกติในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีการจัดตั้งขึ้นแห่งเดียวหรือหลายแห่ง
  2. บริษัทใด ๆ ที่เป็นนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทตาม 1.
  3. หน่วยงานของรัฐบาลต่างประเทศ
  4. องค์การระหว่างประเทศ
  5. ธนาคารกลาง หรือ
  6. สถาบันการเงิน

หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี (Taxpayer Identification Number: TIN)

หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี หมายถึง หมายเลขประจำตัวของผู้เสียภาษี หรือสิ่งที่ใช้แทน ในกรณีที่ไม่มีหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี

สถาบันการเงิน

สถาบันการเงิน หมายถึง สถาบันผู้รับฝากสินทรัพย์ สถาบันรับฝากเงิน นิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุน หรือบริษัทประกันที่กำหนด

สถาบันผู้รับฝากสินทรัพย์

สถาบันผู้รับฝากสินทรัพย์ หมายถึง นิติบุคคลใด ๆ ที่ประกอบธุรกิจหลัก เป็นการถือสินทรัพย์ทางการเงินเพื่อผู้อื่น

     ในกรณีที่จะถือว่าเป็นการประกอบธุรกิจหลักเป็นการถือสินทรัพย์ทางการเงิน เพื่อผู้อื่นตามวรรคหนึ่ง นิติบุคคลนั้นต้องมียอดรวมรายได้ที่มาจากการถือสินทรัพย์ทางการเงิน เพื่อผู้อื่น และการให้บริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการถือสินทรัพย์ทางการเงินนั้น ตั้งแต่ร้อยละ 20 ของรายได้รวมของนิติบุคคล ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งที่สั้นกว่า ดังต่อไปนี้

  1. ระยะเวลาสามปีปฏิทินที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม หรือวันสิ้นสุดอื่นใด ในกรณีรอบบัญชีไม่เป็นไปตามปีปฏิทิน ของปีก่อนปีที่มีการพิจารณาการเป็นสถาบันผู้รับฝากสินทรัพย์ หรือ
  2. ระยะเวลาที่นิติบุคคลดังกล่าวได้มีการจัดตั้งขึ้น

สถาบันรับฝากเงิน

สถาบันรับฝากเงิน หมายถึง นิติบุคลใด ๆ ที่รับฝากเงินเป็นปกติธุระ ในลักษณะของธุรกิจธนาคารหรือธุรกิจอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน

นิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุน

นิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุน หมายถึง นิติบุคคลใด ๆ ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

  1. ประกอบธุรกิจหลักในการทำธุรกรรมหรือดำเนินการเพื่อหรือแทนลูกค้า ในธุรกรรม ดังต่อไปนี้
    1 )  การซื้อขายตราสารทางการเงิน (เช็ค ตั๋วเงิน บัตรเงินฝาก ตราสารอนุพันธ์ เป็นต้น) การปริวรรตเงินตราต่างประเทศ การซื้อขายเครื่องมือทางการเงินอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ยและดัชนีประเภทต่าง ๆ การซื้อขายหลักทรัพย์ที่เปลี่ยนมือได้ หรือการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า
    2 )  การบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนแบบรายบุคคลและแบบรวมกลุ่ม
    3 )  การลงทุน การบริหารจัดการ การบริหารสินทรัพย์ทางการเงินหรือการบริหารเงิน แทนบุคคลอื่น หรือ
  2. รายได้รวมซึ่งเป็นรายได้หลักมาจากการลงทุน การลงทุนใหม่ หรือการซื้อขายสินทรัพย์ทางการเงิน ในกรณีที่นิติบุคคลดังกล่าวถูกบริหารจัดการโดยนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นสถาบัน รับฝากเงิน สถาบันผู้รับฝากสินทรัพย์ บริษัทประกันภัยที่กำหนด หรือนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุนตาม1.
    นิติบุคคลที่จะถือเป็นนิติบุคคลตาม 1. หรือ 2. ก็ต่อเมื่อรายได้รวมของนิติบุคคลนั้นเกิดจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ร้อยละ 50 ของรายได้รวมของนิติบุคคลดังกล่าว แล้วแต่กรณี ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งที่สั้นกว่า ดังนี้
    1 )  ระยะเวลาสามปีปฏิทินที่สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคมของปีก่อนปีที่มีการพิจารณาการเป็นนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุน หรือ
    ​2 )  ช่วงระยะเวลาที่นิติบุคคลดังกล่าวได้มีการจัดตั้งขึ้น

นิติบุคคลที่ดำเนินกิจการเพื่อการลงทุนตามวรรคหนึ่ง ไม่ให้หมายความรวมถึงนิติบุคคลที่เป็นแอ็กทิฟเอ็นเอฟอี เนื่องจากนิติบุคคลดังกล่าวเข้าลักษณะตามหลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งใน 4. ถึง 7. ของนิยามคำว่า “แอ็กทิฟเอ็นเอฟอี”
​ทั้งนี้ การตีความตามวรรคนี้ ต้องตีความให้สอดคล้องกับนิยามของคำว่า “สถาบันการเงิน” ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของประเทศไทย

บริษัทประกันที่กำหนด

บริษัทประกันที่กำหนด หมายถึง นิติบุคคลใด ๆ ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิตที่ออกกรมธรรม์หรือมีภาระที่ต้องชำระเงินตามกรมธรรม์ประกันที่มีมูลค่าเงินสดหรือกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบรายปีหรือที่เรียกว่า แบบบำนาญ

นิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน

นิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน หมายถึง นิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับ นิติบุคคลอื่น ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

  1. นิติบุคคลหนึ่งนิติบุคคลใดมีอำนาจควบคุมอีกนิติบุคคลหนึ่ง หรือ
  2. นิติบุคคลทั้งสองอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมเดียวกัน

ทั้งนี้ อำนาจควบคุมตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงการมีความเป็นเจ้าของ โดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละ 50 ของสิทธิออกเสียงและมูลค่าในนิติบุคคล

เอ็นเอฟอี (NFE)

 เอ็นเอฟอี หมายถึง นิติบุคคลที่มิได้เป็นสถาบันการเงิน

แอ็กทิฟเอ็นเอฟอี (Active NFE)

แอ็กทิฟเอ็นเอฟอี หมายถึง เอ็นเอฟอีที่เป็นไปตามข้อกำหนดข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

1. มีรายได้จากธุรกรรมทางการเงินเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 50 ของเงินได้ทั้งหมดของเอ็นเอฟอีในปีปฏิทินก่อนหน้าหรือระยะเวลารายงานที่เหมาะสมอื่นใด และสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดหรือถือไว้เพื่อก่อให้เกิดรายได้จากธุรกรรมทางการเงินเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 50 ของสินทรัพย์ทั้งหมดที่ถือโดยเอ็นเอฟอีในระหว่างปีปฏิทินก่อนหน้าหรือระยะเวลารายงานที่เหมาะสมอื่นใด

2. หุ้นของเอ็นเอฟอีมีการซื้อขายตามปกติในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่จัดตั้ง หรือหุ้นของนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันกับเอ็นเอฟอีดังกล่าว มีการซื้อขายตามปกติในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่จัดตั้ง

3. เอ็นเอฟอีเป็นหน่วยงานของรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ ธนาคารกลาง หรือนิติบุคคลที่เป็นของหน่วยงานที่กล่าวมาข้างต้น

4. เอ็นเอฟอีมีกิจการหลักที่สำคัญ ดังนี้

  1. ) มีการถือหุ้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ในบริษัทย่อยที่ทำการค้าหรือธุรกิจ ที่มิใช่ธุรกิจของสถาบันการเงิน หรือ
  2. ) มีการให้ความช่วยเหลือทางการเงินหรือการบริการแก่บริษัทย่อยที่ทำการค้าหรือธุรกิจที่มิใช่ธุรกิจของสถาบันการเงิน
    ​ทั้งนี้ เว้นแต่นิติบุคคลดังกล่าวดำเนินการ หรือแสดงตน ในฐานะกองทุนเพื่อการลงทุน เช่น กองทุนหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ กองทุนเพื่อการร่วมลงทุน กองทุนเพื่อการเข้าซื้อหุ้นของกิจการ หรือเครื่องมือเพื่อการลงทุนใด ๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาหรือให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทต่างๆ และถือเอาผลประโยชน์ในบริษัทเหล่านั้นในรูปสินทรัพย์จากการลงทุนสำหรับจุดประสงค์เพื่อการลงทุน นิติบุคคลนั้นไม่ถือว่าเป็นแอ็กทิฟเอ็นเอฟอี

5. เอ็นเอฟอีที่ยังไม่ได้ดำเนินธุรกิจและไม่มีประวัติในการดำเนินธุรกิจมาก่อน แต่มีการนำทุนไปลงทุนในสินทรัพย์โดยมีเจตนาที่จะดำเนินธุรกิจอย่างอื่นนอกจากการเป็นสถาบันการเงิน โดยเอ็นเอฟอีไม่ได้มีคุณสมบัติตามอนุวรรคนี้ภายหลังระยะเวลา 24 เดือน นับจากวันที่ก่อตั้งเอ็นเอฟอีดังกล่าว

6. เอ็นเอฟอีที่ไม่เคยเป็นสถาบันการเงินภายในระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมา และอยู่ ในกระบวนการขายทรัพย์สินเพื่อชำระบัญชีหรือฟื้นฟูกิจการ โดยมีเจตนาที่จะดำเนินธุรกิจต่อหรือ เริ่มธุรกิจที่มิใช่ธุรกิจของสถาบันการเงิน

7. เอ็นเอฟอีที่ดำเนินธุรกิจหลักเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินหรือ การป้องกันความเสี่ยงกับ หรือเพื่อนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันที่มิใช่สถาบันการเงิน โดยที่กลุ่มของนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันนั้นต้องดำเนินธุรกิจหลักที่มิใช่ธุรกิจของสถาบันการเงิน และไม่ได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินหรือการป้องกันความเสี่ยงแก่นิติบุคคลใดซึ่งมิใช่นิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน

8. เอ็นเอฟอีมีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนดดังต่อไปนี้

  1. ) ถูกจัดตั้งขึ้นและดำเนินการในดินแดนที่เอ็นเอฟอีนั้นมีถิ่นที่อยู่ โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อการศาสนา การสาธารณกุศล วิทยาศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา หรือการศึกษา หรือถูกจัดตั้งและดำเนินการในดินแดนที่เอ็นเอฟอีนั้นมีถิ่นที่อยู่และเป็นองค์กรทางวิชาชีพ สมาคมธุรกิจ หอการค้า องค์กรแรงงาน องค์กรทางการเกษตรหรือพืชสวน สมาคมเกี่ยวกับ การพลเรือน หรือองค์กรใดที่ดำเนินการเพื่อสนับสนุนสวัสดิการของรัฐเท่านั้น
  2. ) ได้รับยกเว้นการเสียภาษีเงินได้ในดินแดนที่เอ็นเอฟอีมีถิ่นที่อยู่
  3. ) ไม่มีผู้ถือหุ้นหรือสมาชิกที่มีผลประโยชน์ในทางทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ในเงินได้หรือสินทรัพย์ของเอ็นเอฟอี
  4. ) มีกฎหมายที่บังคับใช้ของดินแดนที่เอ็นเอฟอีมีถิ่นที่อยู่ หรือมีเอกสารจัดตั้งของเอ็นเอฟอีที่ไม่อนุญาตให้มีการจ่ายเงินได้หรือสินทรัพย์ใด ๆ ของเอ็นเอฟอีดังกล่าวให้แก่หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของบุคคลในภาคเอกชนหรือนิติบุคคลที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการสาธารณกุศล เว้นแต่เป็นการดำเนินการเพื่อการสาธารณกุศลของเอ็นเอฟอีเอง หรือเพื่อการจ่ายเงินชดเชย ตามความเหมาะสมสำหรับการทำงานให้ หรือเพื่อชำระเงินเป็นค่าทรัพย์สินที่เอ็นเอฟอีได้ซื้อไว้ตามราคาตลาด และ
  5. ) มีกฎหมายที่บังคับใช้ของดินแดนที่เอ็นเอฟอีมีถิ่นที่อยู่ หรือมีเอกสารจัดตั้งของเอ็นเอฟอีที่กำหนดให้เมื่อมีการชำระบัญชีหรือเลิกกิจการของเอ็นเอฟอีดังกล่าว สินทรัพย์ของ เอ็นเอฟอีทั้งหมด ต้องถูกจำหน่ายให้แก่ หน่วยงานของรัฐบาลหรือองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรอื่น หรือ ให้ตกเป็นของรัฐ หรือหน่วยงานปกครองย่อยในดินแดนที่เอ็นเอฟอีมีถิ่นที่อยู่

แพสซิฟเอ็นเอฟอี (Passive NFE)

แพสซิฟเอ็นเอฟอี หมายถึง

  1. เอ็นเอฟอีซึ่งมิได้เป็นแอ็กทิฟเอ็นเอฟอี หรือ
  2. นิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุนตาม 2. ของนิยามคำว่า “นิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุน” ที่มิใช่สถาบันการเงินในคู่สัญญาที่เข้าร่วม
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ที่บริษัทต้องจัดให้ได้มาซึ่งเอกสารรับรองตนเอง (Self-Certification)
 

     ในกรณีผู้รับประโยชน์ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา จากการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนมรณกรรมกรณีเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัย กำหนดให้บริษัทต้องจัดให้ได้มาซึ่งเอกสารการรับรองตนเอง เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาถิ่นที่อยู่ทางภาษีของผู้รับประโยชน์ โดยบริษัทอาจสันนิษฐานได้ว่า บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์จากการเสียชีวิตของผู้ถือกรมธรรม์ซึ่งเป็นสัญญาประกันภัยมูลค่าเงินสดหรือสัญญาประกันชีวิตแบบเงินรายปี ไม่เป็นผู้ที่ต้องถูกรายงาน และอาจถือว่าบัญชีทางการเงินดังกล่าวเป็นบัญชีที่ไม่ต้องถูกรายงาน เว้นแต่บริษัททราบหรือควรทราบว่าผู้รับประโยชน์เป็นผู้ที่ต้องถูกรายงาน หากบริษัทมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้รับผลประโยชน์ที่มีข้อบ่งชี้ทั้ง 6 ข้อตามกฎกระทรวงฯ

     ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นไปตามที่บริษัทกำหนด