รู้จักเรา

การกำกับดูแลกิจการที่ดี

​​

นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันและสินบน
​(Anti-Bribery and Corruption Policy)

1. ข้อกําหนดทั่วไป

1.1 วัตถุประสงค์

     นโยบายฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อกำหนดกรอบแนวทางสำหรับกรรมการ บุคลากรของบริษัททุกระดับ บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัท รวมถึงผู้กระทำการแทนบริษัท ในการถือปฏิบัติตามความรับผิดชอบและหน้าที่ของตน ซึ่งรวมถึงการป้องกัน ดูแล และไม่กระทำการใด ๆ ที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดการคอร์รัปชัน และการไม่เกี่ยวข้องกับสินบน เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานของบริษัทเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

1.2 ขอบเขตของนโยบาย

     นโยบายนี้ใช้กับกิจกรรมดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อย รวมเรียกว่า “บริษัท” โดยบุคลากรของบริษัท บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัท รวมถึงผู้กระทำ การแทนบริษัท ต้องศึกษาทำความเข้าใจนโยบายฉบับนี้และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ผู้ที่ฝ่าฝืนอาจได้รับการพิจารณาโทษตามระเบียบของบริษัท และ/หรืออาจต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ตลอดจนการสิ้นสุดสัญญาจ้าง

1.3 วันที่มีผลบังคับใช้

     นโยบายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติ

1.4 ความถี่ในการทบทวนและการแก้ไขปรับปรุงนโยบาย

     นโยบายฉบับนี้จะต้องได้รับการทบทวนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสําคัญ

การแก้ไขปรับปรุง การทบทวน หรือการต่ออายุนโยบายฉบับนี้ ต้องได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและการพัฒนาสู่ความยั่งยืนก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติตามลำดับ

1.5 ผู้รับผิดชอบนโยบาย

     สำนักกำกับการปฏิบัติงานเป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการนโยบายฉบับนี้

2. ข้อกําหนดหลัก

2.1 คำนิยาม

  2.1.1 “บริษัท” หมายถึง บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จํากัด (มหาชน)
  2.1.2 “บริษัทย่อย” หมายถึง บริษัทที่บริษัทถือหุ้นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
  2.1.3 “การคอร์รัปชัน” หมายถึง การให้หรือเสนอให้ เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวกระทำการหรือละเว้นกระทำการตามหน้าที่ หรือทำให้เกิดการใช้อำนาจหน้าที่อย่างไม่ถูกต้อง เพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งธุรกิจของบริษัท
  2.1.4 “สินบน” หมายถึง การให้ เสนอให้ หรือรับ เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือ เจ้าหน้าที่เอกชน เพื่อจูงใจให้บุคคลดังกล่าวกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่า การนั้นชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ขัดต่อกฎหมาย หลักจริยธรรม หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยแรงจูงใจดังกล่าวอาจอยู่ในรูปของเงิน ของขวัญ การเลี้ยงรับรอง รางวัล ทรัพย์สิน หรือสิทธิประโยชน์อื่นใด เพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งธุรกิจของบริษัท หรือเพื่อประโยชน์ส่วนตน ทั้งนี้ บริษัท ไม่กำหนดเกณฑ์จำนวนเงินหรือมูลค่าขั้นต่ำ เพื่อใช้เป็นข้อยกเว้นสำหรับการให้หรือรับสินบนทุกกรณี
  2.1.5 “บุคลากรของบริษัท” หมายถึง กรรมการ ผู้บริหาร ลูกจ้าง และพนักงานทุกระดับของบริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย
  2.1.6 “บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัท” หมายถึง ผู้รับจ้าง ตัวแทน ที่ปรึกษา หรือบุคคลใดซึ่งกระทำการเพื่อหรือในนามของบริษัท

2.2 หลักการทั่วไป

     บริษัทมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม โดยยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ด้วยจริยธรรม ความซื่อสัตย์ โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ บริษัทได้เข้าร่วมเป็นแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการคอร์รัปชัน (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption: CAC) เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการต่อต้านการคอร์รัปชันและสินบนทุกรูปแบบ เพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทเป็นไปตามกฎหมายและสอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมาตรฐานสากลด้านการต่อต้านการคอร์รัปชัน คณะกรรมการบริษัทจึงกำหนดนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันและสินบนฉบับนี้ขึ้น

2.3 บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบ

  2.3.1 คณะกรรมการบริษัท (“BoD”) เป็นผู้พิจารณาอนุมัติและทบทวนนโยบายด้านการต่อต้านการคอร์รัปชั่นและสินบนของบริษัท และการกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบายในภาพรวม
  2.3.2 คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและการพัฒนาสู่ความยั่งยืน (“CGS”) เป็นผู้พิจารณา ทบทวนนโยบายฉบับนี้ก่อนผู้รับผิดชอบนโยบายจะนำเสนอแก่คณะกรรมการบริษัทต่อไป
  2.3.3 คณะกรรมการจัดการ (“MC”) เป็นผู้นำนโยบายฉบับนี้ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท

2.4 ข้อกำหนด

2.4.1 การไม่อดทนต่อการคอร์รัปชันและสินบน (Zero Tolerance)

     บริษัทไม่สนับสนุนการให้หรือรับ เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ซึ่งมีเจตนาจูงใจให้เกิดการกระทำหรือการละเว้นการกระทำใด ๆ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ตลอดจนจะถือปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการคอร์รัปชันและสินบน

2.4.2 ประเภทรายการที่มีความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชันและสินบน

     การคอร์รัปชันและสินบนอาจเกิดได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียง การให้ของขวัญ การต้อนรับ การบริจาคเพื่อการกุศล การเป็นผู้ให้การสนับสนุน ค่าอำนวยความสะดวก การสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง การจัดจ้างพนักงานรัฐ เป็นต้น

2.4.2.1 ของขวัญและการต้อนรับ

     ของขวัญและการต้อนรับอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชันและสินบน บริษัทจึงกำหนดนโยบาย No Gift Policy เพื่อสร้างความตระหนักถึงความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชันและสินบน และเป็นแนวทางสำหรับบุคลากรของบริษัทในการไม่รับหรือไม่ให้ของขวัญหรือ การต้อนรับ อย่างไรก็ตาม การรับหรือการให้ของขวัญหรือการต้อนรับที่เป็นไปตามประเพณีนิยม แนวปฏิบัติ และจรรยาบรรณที่บริษัทกำหนด เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้

2.4.2.2 การบริจาคเพื่อการกุศลและการให้การสนับสนุน

     บริษัทสนับสนุนการมีส่วนร่วมกับชุมชน ทั้งในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความมั่นคงให้กับสังคม การบริจาคเพื่อการกุศลหรือการให้การสนับสนุนแสดงถึงความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม ตลอดจนภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัท เพื่อป้องกันการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ บริษัทจึงกำหนดให้มีมาตรการในการพิจารณาการบริจาคเพื่อการกุศลและการพิจารณาให้การสนับสนุน ทั้งในมิติของผู้รับบริจาคหรือขอรับการสนับสนุน รวมถึงวัตถุประสงค์ในการดำเนินการก่อนการบริจาคหรือให้การสนับสนุน เพื่อป้องกันการใช้ช่องทางดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการคอร์รัปชันและติดสินบน หรือเพื่อเอื้อประโยชน์โดยมิชอบต่อบริษัทหรือบุคคลอื่นใด ทั้งนี้ การบริจาคเพื่อการกุศลและการให้การสนับสนุนต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตและสอดคล้องกับระเบียบ นโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัทด้วย

2.4.2.3 ค่าอำนวยความสะดวก

     บริษัทไม่มีนโยบายการจ่ายค่าอำนวยความสะดวกที่อาจนำไปสู่การคอร์รัปชันและสินบน

2.4.2.4 การสนับสนุนทางการเมือง

     การสนับสนุนทางการเมือง หมายถึง การให้ทรัพย์สิน เงิน สิ่งของ สิทธิ หรือผลประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นการช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเพื่อประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือบุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทางการเมือง ตลอดจนกิจกรรมทางการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

     บริษัทเป็นองค์กรทางธุรกิจที่เป็นกลางทางการเมือง และไม่มีนโยบายให้ความช่วยเหลือทางการเมืองแก่พรรคการเมือง ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

2.4.2.5 การจัดจ้างพนักงานรัฐ

     บริษัทจะพิจารณาการว่าจ้างหรือจัดจ้างพนักงานรัฐหรืออดีตพนักงานรัฐอย่างเหมาะสม ตามกระบวนการที่บริษัทกำหนด และคำนึงถึงการไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทับซ้อนหรือก่อให้เกิดช่องทางการคอร์รัปชันหรือติดสินบนได้ รวมถึงการพิจารณาถึงเงื่อนเวลา โดยพนักงานรัฐต้องพ้นจากสถานภาพแล้ว ก่อนวันที่สมัครเป็นพนักงานของบริษัท

2.4.3 มาตรการป้องกันการคอร์รัปชันและสินบน

     บริษัทจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านคอร์รัปชันและสินบนอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ บุคลากรของบริษัทต้องทำความเข้าใจลักษณะและประเภทของรายการที่อาจก่อให้เกิดการคอร์รัปชันหรือสินบน ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทสามารถรับมือเหตุการณ์การคอร์รัปชันและสินบนที่อาจเกิดขึ้นในการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสม

     บุคลากรของบริษัทและบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทต้องถือปฏิบัติตามนโยบายนี้ด้วยความซื่อสัตย์อย่างเคร่งครัด รวมทั้งไม่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันและสินบนและไม่เพิกเฉยต่อเหตุการณ์ดังกล่าว หากพบเห็นการคอร์รัปชัน การติดสินบน หรือเหตุที่อาจก่อให้เกิดการคอร์รัปชันหรือการติดสินบน ต้องแจ้งไปยังผู้บริหาร ผู้บังคับบัญชา หรือช่องทางการแจ้งเบาะแสที่บริษัทกำหนดไว้โดยไม่ชักช้า รวมถึงให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง

     บุคลากรของบริษัท บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัท และผู้กระทำการแทนบริษัท ซึ่งปฏิเสธการกระทำที่อาจเข้าข่ายว่าเป็นการคอร์รัปชันหรือติดสินบน จะไม่ถูกลดตำแหน่ง ลงโทษ หรือได้รับผลทางลบใด ๆ แม้การปฏิเสธการกระทำนั้นจะทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ

     เพื่อให้มีการดำเนินการต่อต้านการคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม และเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่โปร่งใส บริษัทกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อการต่อต้านการคอร์รัปชันและสินบนให้เป็นไปตามนโยบายฉบับนี้ และจัดให้มีการทบทวนแนวปฏิบัติดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ

2.5 บทลงโทษ

          การฝ่าฝืนการปฏิบัติตามนโยบายฉบับนี้ เป็นการฝ่าฝืนจรรยาบรรณสำหรับบุคคลขององค์กรและอาจมีความผิดตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ หรือข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง