สัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ แบบมาตรฐาน
ทำไมจะต้องมีการปรับปรุงสัญญาประกันภัยสุขภาพ?
เพื่อให้สัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพที่แนบท้ายกรมธรรม์ประกันชีวิตมีมาตรฐานเดียวกัน และมีเงื่อนไขความคุ้มครองที่สอดคล้องกับเทคโนโลยี วิธีการรักษาทางการแพทย์ และวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการปฏิรูประบบสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จึงได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 56/2562 ต่อมาปรับแก้ไขเป็น คำสั่งนายทะเบียนที่ 14/2564 เรื่อง หลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบแบบและข้อความ สัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ ประเภทสามัญ แบบมาตรฐาน สำหรับบริษัทประกันชีวิต ลงวันที่ 7 เมษายน 2564 และคำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป
เนื้อหาในคำสั่งนายทะเบียนที่ 14/2564 กำหนดเนื้อหาการปรับใช้และการจัดทำแบบและข้อความสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ ประเภทสามัญ แบบมาตรฐาน สำหรับบริษัทประกันชีวิต ซึ่งกำหนดไว้ทั้ง คำนิยาม ตารางผลประโยชน์ ข้อตกลงความคุ้มครอง ข้อกำหนดทั่วไป และข้อยกเว้นทั่วไป โดยจะถูกนำมาใช้กับแบบประกันสุขภาพแบบใหม่ที่จะเสนอขาย ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป
สัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพมาตรฐานใหม่ มีข้อกำหนดที่แตกต่างจากสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ (เดิม) อาทิ
หัวข้อ |
สัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพแบบมาตรฐาน |
สัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพฉบับเดิม |
เหตุผล |
คำนิยาม |
เพิ่มนิยาม
- ฉ้อฉลประกันภัย
- การป่วย
- แพทย์เฉพาะทาง
- การผ่าตัดใหญ่
- การผ่าตัดเล็ก
- การผ่าตัดใหญ่ที่ไม่ต้องพักรักษาต้วเป็นผู้ป่วยใน (Day Surgery)
|
เดิมไม่มีนิยาม ที่กำหนดเพิ่มมา
|
การเพิ่มเติมนิยามต่างๆ เพื่อให้ครอบคลุมสถานการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน ตลอดจนวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่พัฒนามากขึ้น |
ตารางผลประโยชน์ |
13 หมวดผลประโยชน์ |
สูงสุด 8 หมวดผลประโยชน์ |
กำหนดหมวดผลประโยชน์ให้เหมือนกันทั้งธุรกิจ เพื่อประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ในการเปรียบเทียบความคุ้มครอง |
ข้อตกลงความคุ้มครอง |
- ค่าธรรมเนียมแพทย์ในการศัลยกรรมและหัตถการ ตามที่กำหนดไว้ในคู่มือค่าธรรมเนียมแพทย์ของแพทยสภาประเทศไทยที่มีผลใช้คุ้มครองขณะทำการผ่าตัด
- การผ่าตัดใหญ่ที่ไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (Day Surgery) ไม่ได้ระบุจำนวนหัตถการ แต่กำหนดนิยามการผ่าตัดที่เข้าเกณฑ์นี้
|
- ค่าธรรมเนียมแพทย์ในการศัลยกรรมและหัตถการ กำหนดวงเงินคุ้มครอง ตามความจำเป็นทางการแพทย์
- การผ่าตัดใหญ่ที่ไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (Day Surgery) กำหนด ชื่อและจำนวน 21 หัตถการ
|
เพื่อให้เกิดความชัดเจนและมีแนวทางปฏิบัติที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งธุรกิจประกันชีวิต |
ข้อกำหนดทั่วไป |
- เพิ่มเงื่อนไขการต่ออายุสัญญาเพิ่มเติม ขั้นต่ำจนถึงอายุ 69 ปี
- เงื่อนไขการไม่ต่ออายุสัญญาเพิ่มเติม 3 กรณี และเพิ่มเงื่อนไขการต่ออายุแบบมีค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment) กำหนดไม่เกิน 30%ของค่าใช้จ่ายที่ได้รับความคุ้มครอง และปรับลดเบี้ยประกันภัยตามส่วน
- การปรับเบี้ยประกันภัย ณ วันครบรอบปีกรมธรรม์ ขึ้นอยู่กับปัจจัย
- อายุและชั้นอาชีพของแต่ละบุคคล
- ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น หรือจากประสบการณ์การจ่ายค่าสินไหมทดแทน โดยรวมของพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio) ทั้งนี้เบี้ยประกันภัยที่มีการปรับจะต้องอยู่ในอัตราที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนไว้แล้ว
|
- บางแบบประกัน กำหนดไว้ที่ ขั้นต่ำ จนถึงอายุ 60 ปี
- เงื่อนไขการไม่ต่ออายุสัญญาเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับบริษัทกำหนด
- กำหนดตามอายุ และชั้นอาชีพของแต่ละบุคคล โดยผ่านการอนุมัติจากคปภ.แล้ว
|
เพื่อให้เกิดความชัดเจนและมีแนวทางปฏิบัติที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งธุรกิจประกันชีวิต |
ข้อยกเว้นทั่วไป |
จำนวน 21 ข้อ
|
จำนวน 26 ข้อ
|
เพื่อให้เกิดความชัดเจนและมีแนวทางปฏิบัติที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งธุรกิจประกันชีวิต |
เงื่อนไขสาระที่สำคัญโดยสังเขป
1. สัญญาเพิ่มเติมนี้เป็นสัญญาประกันภัยที่มีระยะเวลาเอาประกันภัย 1 ปี
2. สัญญาเพิ่มเติมนี้ จะต่ออายุกรณีครบรอบปีกรมธรรม์ (Renewal) เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้ บริษัทจะสงวนสิทธิไม่ต่ออายุสัญญาเพิ่มเติม
- ในกรณีที่มีหลักฐานว่าผู้เอาประกันภัยไม่แถลงข้อความจริงตามใบคำขอเอาประกันภัยหรือคำขอต่ออายุ (Reinstatement) ใบแถลงสุขภาพ และข้อแถลงเพิ่มเติมอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่อาจทำให้บริษัทเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่รับทำสัญญา หรือรับประกันภัยแบบมีเงื่อนไข
- ผู้เอาประกันภัยเรียกร้องผลประโยชน์จากการที่ตนให้มีการรักษาการบาดเจ็บหรือการป่วยโดยไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์
- ผู้เอาประกันภัยเรียกร้องผลประโยชน์ค่าชดเชยจากการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลรวมกันทุกบริษัทเกินกว่ารายได้ที่แท้จริง
3. ระยะเวลาผ่อนผันชำระเบี้ยประกันภัย 60 วัน ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย
4. กรณีที่บริษัทจะไม่คุ้มครอง เนื่องจาก
- ผู้เอาประกันภัยฉ้อฉลประกันภัย
- การป่วยที่เกิดขึ้นในระยะเวลาที่ไม่คุ้มครอง (Waiting period) 30 วัน นับแต่วันเริ่มมีผลคุ้มครองตามสัญญาเพิ่มเติมนี้ หรือวันที่บริษัทอนุมัติให้เพิ่มผลประโยชน์ของสัญญาเพิ่มเติมนี้ แล้วแต่กรณีใดจะเกิดขึ้นภายหลัง หรือ
- การป่วยดังต่อไปนี้ ที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 120 วัน นับแต่วันเริ่มมีผลคุ้มครองตามสัญญาเพิ่มเติมนี้ หรือวันที่บริษัทอนุมัติให้เพิ่มผลประโยชน์ของ สัญญาเพิ่มเติมนี้ แล้วแต่กรณีใดจะเกิดขึ้นภายหลัง
- เนื้องอก ถุงน้ำ หรือมะเร็งทุกชนิด
- ริดสีดวงทวาร
- ไส้เลื่อนทุกชนิด
- ต้อเนื้อ หรือต้อกระจก
- การตัดทอนซิล หรืออดีนอยด์
- นิ่วทุกชนิด
- เส้นเลือดขอดที่ขา
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- สภาพที่เป็นมาก่อนการเอาประกันภัย (Pre-existing Condition) เว้นแต่
- ผู้เอาประกันภัยได้แถลงให้บริษัททราบและบริษัทยินยอมรับความเสี่ยงภัย โดยไม่มีเงื่อนไขยกเว้นความคุ้มครองดังกล่าว หรือ
- โรคเรื้อรัง การบาดเจ็บ หรือการป่วย (รวมถึงภาวะแทรกซ้อน) นั้น ไม่ปรากฏอาการ ไม่ได้รับการตรวจรักษาหรือวินิจฉัยโดยแพทย์ หรือไม่ได้พบหรือปรึกษาแพทย์ ในระยะ 5 ปีก่อนวันที่สัญญาเพิ่มเติมเริ่มมีผลคุ้มครองเป็นครั้งแรก และในช่วงเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่สัญญาเพิ่มเติมนี้เริ่มมีผลคุ้มครองเป็นครั้งแรก
- ข้อยกเว้นทั่วไป ตามที่ระบุในสัญญาเพิ่มเติมนี้ เช่น ภาวะที่เป็นผลจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นแต่กำเนิด การตรวจรักษาที่ยังอยู่ในระหว่างทดลอง การแก้ไขปัญหาการมีบุตรยาก (รวมถึงการสืบวิเคราะห์และการรักษา) การพักฟื้น หรือการพักเพื่อการฟื้นฟู หรือการรักษาโดยวิธีให้พักอยู่เฉยๆ เป็นต้น
- การยกเว้น หรือการไม่คุ้มครองใดๆ ตามที่ระบุไว้ในแต่ละข้อตกลงคุ้มครอง
ข้อความนี้เป็นการสรุปสาระสำคัญ เงื่อนไขความคุ้มครอง ข้อยกเว้น บางส่วนเท่านั้น ท่านสามารถศึกษาและทำความเข้าใจรายละเอียดทั้งหมดตาม คำสั่งนายทะเบียนที่ 14/2564