โรคโควิด 19 คือ โรคติดต่ออุบัติใหม่ซึ่งเกิดจากไวรัสโคโรนาชนิดที่มีการค้นพบล่าสุด โดยไวรัสและโรคอุบัติใหม่ชนิดนี้ไม่เป็นที่รู้จักเลยก่อนที่จะมีการระบาดในประเทศจีน เมื่อช่วงเดือนธันวาคมปี ค.ศ.2019 ขณะนี้โรคโควิด 19 มีการระบาดใหญ่เป็นวงกว้างจนส่งผลกระทบเป็นอย่างมากในด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจของแทบทุกประเทศทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน มาทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ เพื่อป้องกันตนเองและคนรอบข้างให้ปลอดภัยกัน
ไวรัสโคโรนาเป็นสาเหตุของโรคทั้งในสัตว์และคน มีไวรัสโคโรนาหลากหลายสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่โรคหวัดธรรมดาไปจนถึงโรคที่มีอาการรุนแรง เช่น โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS), โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง (SARS) รวมถึงไวรัสโคโรนาที่ค้นพบล่าสุดซึ่งทำให้เกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศชื่อทางการสำหรับใช้เรียก โรคทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า "โควิด-ไนน์ทีน" (Covid-19) โดยชื่อนี้มาจากคำย่อในภาษาอังกฤษของคำว่าโคโรนา, ไวรัส และดีซีส (Disease) ที่แปลว่าโรคภัยไข้เจ็บ รวมทั้งเลข 19 ซึ่งแสดงถึงปี ค.ศ. ที่มีรายงานการแพร่ระบาดครั้งแรก
โควิด 19 ติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางละอองน้ำมูก น้ำลายซึ่งปะปนออกมาเมื่อผู้ป่วยโรคโควิด19 ไอ จามหรือพูด ละอองเหล่านี้ค่อนข้างหนัก ไปไม่ได้ไกล และจะตกลงสู่พื้นอย่างรวดเร็ว การรักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตรจึงเป็นเรื่องจำเป็น ละอองเหล่านี้ยังสามารถตกลงสู่วัตถุและพื้นผิวต่างๆ เช่น โทรศัพท์, โต๊ะ, ลูกบิดประตู, ราวจับ ฯลฯ และเมื่อคนเอามือไปจับพื้นผิวเหล่านั้นแล้วมาสัมผัสตัวเอง เช่น จับตา จมูก หรือปาก ก็จะได้รับเชื้อโรคตัวนี้เข้าสู่ร่างกาย นี่ซึ่งอาจป้องกันได้ด้วยการล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอลเจลก่อนและหลังการสัมผัส เราจะสามารถติดเชื้อโควิด 19 จากผู้ป่วยที่ไม่มีอาการได้หรือไม่ ผู้ป่วยโควิด19 จำนวนมากมีอาการเพียงเล็กน้อยโดยเฉพาะในระยะเริ่มแรก ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่เราจะติดเชื้อโควิด 19 จากผู้ป่วยที่ไอเล็กน้อยและไม่รู้สึกป่วยเลย และที่น่ากลัวคือผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการเลยก็สามารถแพร่เชื้อได้เช่นกัน
อาการทั่วไปของโรคโควิด 19 พี่พบมากที่สุดคือ ไข้(อุณหภูมิมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส), ไอ และอ่อนเพลีย
อาการอื่นๆ ได้แก่ ปวดเมื่อย เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส คัดจมูก น้ำมูกไหล ท้องเสีย หรือผื่นตามผิวหนัง หรือสีผิวเปลี่ยนตามนิ้วมือนิ้วเท้า อาการเหล่านี้มักจะไม่รุนแรงนักและค่อยๆเริ่มทีละน้อย บางรายติดเชื้อแต่มีอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยส่วนมาก (80%) หายป่วยได้โดยไม่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล
งานวิจัยชิ้นล่าสุดยังบอกว่า หากไม่ได้กลิ่น และไม่รู้รสชาติ มีความเสี่ยงมากกว่า 10 เท่าที่จะติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าอาการมีไข้ ไอ จาม เสียอีก โดยผู้ติดเชื้ออาจยังสามารถรับรู้ความแตกต่างของรสชาติได้บ้าง อย่างความเค็ม หรือความหวาน แต่จะไม่สามารถบอกรสชาติได้ชัดเจน และคนที่สูญเสียความสามารถในการรับรู้กลิ่น ก็มักจะสูญเสียความสามารถในการรับรู้รสได้เช่นกัน
ประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่มีอาการหนักและหายใจลำบาก แล้วเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือ มะเร็ง พบว่าจะมีแนวโน้มของอาการป่วยรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น
อย่างไรก็ตามทุกคนสามารถติดโรคโควิด 19 ได้ และมีโอกาสพัฒนาไปมีอาการรุนแรงได้เช่นกัน หากสงสัยอาการของตน ควรปรึกษาแพทย์ทันที หากเป็นไปได้ แนะนำให้โทรไปล่วงหน้า เพื่อสถานพยาบาลจะได้ให้คำแนะนำตามความเสี่ยงของท่านได้เหมาะสมมากขึ้น
ควรใส่หน้ากากเสมอเมื่อออกไปที่สาธารณะ หรืออยู่ในที่ที่มีผู้คนอยู่รวมกัน รักษาระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตรจากผู้อื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดคนที่กำลังไอหรือจาม เนื่องจากผู้ติดเชื้อบางรายอาจยังไม่แสดงอาการ และยังไม่แน่นอนว่าคนยังสามารถแพร่เชื้อต่อได้นานเท่าใดหลังจากหายแล้ว ดังนั้นจึงควรทำตามคำแนะนำเรื่องการแยกตัวอย่างเคร่งครัด
การกักตัว (Quarantine) หมายถึง การที่บุคคลที่ไม่ป่วยแต่อาจมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด 19 จำกัดกิจกรรมของตนเองและแยกตัวออกจากคนอื่น จุดประสงค์คือเพื่อดูอาการและเพื่อให้สามารถค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ได้แต่เนิ่นๆ
การแยกตัว (Isolation) หมายถึงการแยกผู้ติดเชื้อที่เป็นโรคโควิด 19 และอาจแพร่เชื้อได้ออกมา เพื่อป้องการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
การเว้นระยะ (Social Distancing) คือการอยู่ห่างกันและกัน องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เว้นระยะอย่างน้อย 1 เมตรจากผู้อื่น ส่วนนี้เป็นมาตรการทั่วไปที่ทุกคนควรทำถึงแม้ว่าจะแข็งแรงดีและไม่มีประวัติสัมผัสโรคโควิด19 เลยก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือการรักษาสุขอนามัยของตนเอง โดยการใส่หน้ากากอนามัยให้ถูกต้องอยู่เสมอ และหมั่นล้างมือ หรือทำความสะอาดมือก่อนรับประทานอาหาร และก่อนไปหยิบจับอะไรรอบ ๆ ตัว ก็เป็นเรื่องที่ควรทำให้เป็นนิสัย แม้จะไม่มีการระบาดของโรคนี้ก็ตาม
อ้างอิง
เรียบเรียงโดย
น.ส.โศศิษฐา พงษ์เสถียรศักดิ์
เจ้าหน้าที่พยาบาล
ส่วนงานบริหารจัดการโรงพยาบาลและข้อมูลสุขภาพ ศูนย์บริการการแพทย์