จรรยาบรรณคู่ค้า
บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) เป็นองค์กรที่ได้รับความไว้วางใจจากบุคคลทั่วไปในการสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับชีวิต ครอบครัว สังคม และเป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือจากผู้ถือหุ้น หน่วยงานกำกับ และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ในการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรมและเพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับ ทุกฝ่าย บริษัทดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักจริยธรรมและธรรมาภิบาลที่ดี เพื่อเสริมสร้างคุณค่าความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อมตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการสื่อสารหลักการดังกล่าวไปยังคู่ค้า เพื่อแสดงความคาดหวังของบริษัทที่มีต่อการดำเนินงานของคู่ค้า บริษัทจึงได้จัดทำจรรยาบรรณคู่ค้าขึ้นเพื่อเป็นหลักปฏิบัติสำหรับคู่ค้า และมุ่งหวังให้คู่ค้าดำเนินธุรกิจด้วยความสุจริต โปร่งใส เป็นธรรม โดยเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน และดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
จรรยาบรรณนี้ใช้สำหรับคู่ค้าของบริษัท โดยคู่ค้า หมายถึง ผู้ขายสินค้า ผู้รับเหมา และผู้ให้บริการแก่บริษัท
แนวทางปฏิบัติ
1. การเคารพต่อกฎหมายและกฎเกณฑ์
- ดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ หรือจรรยาบรรณของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ
- ไม่มีส่วนสนับสนุนหรือส่วนร่วมในการกระทำหรือปกปิดการกระทำใด ๆ ที่ผิดกฎหมาย
- ดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักคุณธรรมความดี ความถูกต้อง และความชอบธรรม ตามหลักกฎหมาย ศีลธรรม และกติกาทางสังคม
2. ด้านสิ่งแวดล้อม
ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการบริหารจัดการและการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องดังกล่าวแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ
- ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน ของคู่ค้า
- ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงการบริหารความเสี่ยง และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเพื่อป้องกันหรือบรรเทาความเสี่ยง
- รู้คุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมอนุรักษ์ และส่งเสริมให้สังคมตลอดจน ผู้มีส่วนได้เสียทั้งปวงเห็นคุณค่าและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจน ให้การสนับสนุนกิจกรรมของชุมชนที่จัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
3. ด้านสังคม
3.1 สิทธิมนุษยชน
เคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักกฎหมายในประเทศและมาตรฐานสากล เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights : UDHR) และอนุสัญญาหลักด้าน สิทธิแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (The International Labour Organization Conventions)
3.2 การปฏิบัติที่ดีด้านแรงงาน
รักษาสิทธิมนุษยชนของแรงงานและปฏิบัติต่อแรงงานอย่างมีศักดิ์ศรี เท่าเทียม และด้วยความเคารพตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับระดับสากล โดยประยุกต์ใช้กับแรงงานทุกประเภท
- ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับด้านแรงงานที่เกี่ยวข้อง
- เคารพสิทธิแรงงานและปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมากจากความแตกต่างทางเชื้อชาติ เพศ อายุ สัญชาติ ศาสนา สถานภาพสมรส การตั้งครรภ์ ความพิการ หรือสถานะอื่นใด
- ไม่บังคับใช้แรงงานหรือข่มขืนใจผู้อื่นให้ทำงานหรือให้บริการโดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนด ไม่จ้างแรงงานเด็กหรือแรงงานต่างด้าวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และไม่ใช้แรงงานเด็กและแรงงานหญิงทำงานเสี่ยงอันตรายหรืองานอื่นตามที่กฎหมายกำหนด
- ดูแลให้พนักงานมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ สอดคล้องกับมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้พนักงานมีความปลอดภัย มีสุขภาพอนามัยและสุขภาพจิตที่ดี และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล
- จัดหาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลให้แก่พนักงานอย่างเพียงพอและเหมาะสม
- มีแผนป้องกันและระงับเหตุฉุกเฉินที่เหมาะสม และดูแลอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้อยู่ในสภาพ พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
3.3 สิทธิชุมชน
ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิชุมชน มีมาตรการป้องกันบรรเทาผลกระทบที่ อาจเกิดขึ้นกับชุมชน และเยียวยาผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นกับชุมชนอย่างเป็นธรรม
4.ด้านจริยธรรมทางธุรกิจ
- ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ความโปร่งใส ไม่สนับสนุนการทุจริตคอร์รัปชัน การฟอกเงิน และไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายในทุกรูปแบบ
- ปฏิบัติต่อคู่แข่งทางการค้าภายใต้กรอบกติกาการแข่งขันอย่างสุจริตและเป็นธรรม ไม่กีดกันการค้า หรือกำหนดเงื่อนไขอันเป็นการจำกัดการประกอบธุรกิจของผู้อื่นโดยไม่เป็นธรรม
- ปกป้องรักษาข้อมูลความลับของบริษัท ข้อมูลส่วนตัวของพนักงาน และลูกค้าของบริษัทจากการถูกนำไปใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์ ยกเว้นในกรณีการปฏิบัติตามข้อยกเว้นของกฎหมาย
- ไม่ละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทและผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจส่งผลให้ธุรกิจของบริษัทได้รับความเสียหายหรือเสื่อมเสียชื่อเสียง
บริษัททบทวนจรรยาบรรณคู่ค้าเป็นประจำทุกปี หรือเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญอันสมควรแก่การทบทวน และจะสื่อสารไปยังผู้มีส่วนได้เสียทุกครั้ง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาระสำคัญ