นโยบายป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์
บทนำ
บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) มุ่งมั่นในการบริหารงานอย่างโปร่งใส สุจริต ด้วยจริยธรรม สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี การตัดสินใจในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทจึงต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบริษัท และผู้มีส่วนได้เสียเป็นสำคัญ
วัตถุประสงค์
เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่สำหรับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ตามมาตรฐานจรรยาบรรณ และไม่แสวงหาประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ขอบเขต
บุคลากรของบริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ต้องศึกษา ทำความเข้าใจนโยบายป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ฉบับนี้ และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
กรอบการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์
ความขัดแย้งทางผลประโยชน์อาจเกิดขึ้นในสถานการณ์ใด ๆ ที่บริษัท และ/หรือ กรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน มีส่วนได้เสียในการตัดสินใจดำเนินการในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้แก่
- ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างกรรมการ ผู้บริหาร และ/หรือ พนักงาน กับบริษัท : เมื่อการตัดสินใจของกรรมการ ผู้บริหาร และ/หรือ พนักงาน เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลอื่น หรือการมีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมของกรรมการ ผู้บริหาร และ/หรือ พนักงาน ทำให้บริษัทได้รับผลเสีย เช่น การใช้ข้อมูลภายในเพื่อแสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น การมีส่วนได้เสียในรายการที่เกี่ยวโยงกัน หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการแข่งขันกับบริษัท ฯลฯ
- ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างบริษัทกับลูกค้า : เมื่อการตัดสินใจของกรรมการ ผู้บริหาร และ/หรือ พนักงาน เป็นผลให้บริษัทได้ประโยชน์ โดยก่อให้เกิดความเสียหายต่อลูกค้าโดยไม่เป็นธรรม เช่น ผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับลูกค้า ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบระบบงานบริการ บริษัทควรคำนึงถึงผลประโยชน์ที่แท้จริงของลูกค้า
- ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างลูกค้ากับลูกค้า : ลูกค้ารายหนึ่ง (หรือกลุ่มหนึ่ง) อาจมีโอกาสได้รับประโยชน์ หรือการหลีกเลี่ยงผลเสีย ซึ่งผลเสียจะตกไปสู่ลูกค้าอีกรายหนึ่ง (หรือกลุ่มหนึ่ง) ที่มีลักษณะหรือประเภทเดียวกัน โดยบริษัทมีหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ต่อลูกค้าทั้งสองฝ่าย (กลุ่ม) อย่างเป็นธรรม
การจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์
- กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน พึงหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้น
- กรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน ต้องรายงานความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่ตนเกี่ยวข้องที่เกิดขึ้น
- จัดให้มีมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และมาตรการจัดการ หากเกิด ความขัดแย้งทางผลประโยชน์
- จัดให้มีการบันทึกรายการความขัดแย้งทางผลประโยชน์
- จัดให้มีการอบรมในหลักสูตรเกี่ยวกับนโยบายป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์เป็นประจำทุกปี
การทบทวนนโยบาย
บริษัททบทวนนโยบายอย่างสม่ำเสมอหรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่มีสาระสำคัญ