รู้จักเรา

การกำกับดูแลกิจการที่ดี

​​

นโยบายการแจ้งเบาะแส (Whistle Blowing Policy)

บทนำ

     บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) มุ่งมั่นในการบริหารงานอย่างโปร่งใส สุจริต เป็นธรรม รับผิดชอบต่อสังคม และตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันการทุจริต ประพฤติมิชอบ และการฝ่าฝืนจรรยาบรรณหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจและการดำเนินธุรกิจของบริษัท นโยบายฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ได้แก่ บุคลากรภายในบริษัท หรือจากบุคคลภายนอก สามารถแจ้งเบาะแส (Whistle Blow) การกระทำ หรือข้อสงสัยว่ามีการกระทำการทุจริตประพฤติมิชอบ และการฝ่าฝืนจรรยาบรรณหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดช่องทางการรับแจ้งเบาะแส และมาตรการคุ้มครองผู้ที่แจ้งเบาะแสและผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงในนโยบายฉบับนี้

 

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม สามารถแจ้งเบาะแสให้บริษัททราบผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่บริษัทจัดเตรียมให้ หากมีเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำ หรือมีข้อสงสัยว่ามีการกระทำการทุจริต ประพฤติมิชอบ และการฝ่าฝืนจรรยาบรรณ หรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่โปร่งใส ปราศจากการทุจริตประพฤติมิชอบ การฝ่าฝืนจรรยาบรรณหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
  2. เพื่อให้การดำเนินงานของบริษัท มีความถูกต้อง เหมาะสม โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และสามารถตรวจสอบได้ โดยสอดคล้องกับกฎหมาย หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และป้องกันความเสี่ยงในความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
  3. เพื่อคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสโดยสุจริต โดยข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสและเรื่องที่แจ้งจะถูกเก็บเป็นความลับ โดยไม่เปิดเผยต่อบุคคลอื่น

 

ขอบเขต

     บุคลากรของบริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ต้องศึกษา ทำความเข้าใจนโยบายการแจ้งเบาะแสฉบับนี้ และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

 

คำนิยาม

  1. ผู้แจ้งเบาะแส (Whistle Blower) หมายถึง กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรภายในบริษัทหรือจากบุคคลภายนอก
  2. การแจ้งเบาะแส (Whistle Blowing) หมายถึง การแจ้งข้อมูลต่อบริษัทเกี่ยวกับเบาะแสการกระทำ หรือข้อสงสัยว่ามีการกระทำการทุจริต ประพฤติมิชอบ และการฝ่าฝืนจรรยาบรรณหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

 

ช่องทางในการแจ้งเบาะแส

     ผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกสามารถแจ้งเบาะแสมายังบริษัทได้ตามช่องทางดังต่อไปนี้

          1. ประธานกรรมการตรวจสอบ
          audit_committee@bangkoklife.com

          2. ฝ่ายตรวจสอบ
          โทรศัพท์ 0-2777-8233-4 โทรสาร 0-2777-8237 หรือ
          auditor@bangkoklife.com

          3. สำนักกำกับการปฏิบัติงาน
          โทรศัพท์ 0-2777-8861 โทรสาร 0-2777-8605 หรือ
          compliance@bangkoklife.com

          4. ทางไปรษณีย์:
          ฝ่ายตรวจสอบ
          บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
          เลขที่ 1415 ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800

     นอกจากช่องทางการรับแจ้งเบาะแสดังกล่าวข้างต้นนี้แล้ว พนักงานยังสามารถสอบถามข้อสงสัยหรือแจ้งเบาะแสหากพบเห็นการกระทำ หรือสงสัยว่ามีการฝ่าฝืนหรือการไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณของบริษัทหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตามช่องทางดังต่อไปนี้

  1. ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล
  2. ผู้บังคับบัญชาที่ตนเองไว้วางใจในทุกระดับ

 

การคุ้มครองสิทธิผู้แจ้งเบาะแสและผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง

     ผู้ที่แจ้งเบาะแสและผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งได้รายงานโดยสุจริตจะได้รับการคุ้มครอง ดังนี้

  1. ผู้ที่แจ้งเบาะแสและผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง สามารถเลือกที่จะไม่เปิดเผยตนเองได้หากเห็นว่าการเปิดเผยนั้นจะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยหรือเกิดความเสียหายใด ทั้งนี้ การเปิดเผยตนเอง จะทำให้บริษัทสามารถรายงานความคืบหน้า ชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบ หรือบรรเทาความเสียหายได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
  2. บริษัทอาจจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลของผู้ที่แจ้งเบาะแสและผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้เปิดเผย โดยบริษัทจะคำนึงถึงความปลอดภัยและความเสียหายต่อผู้แจ้งเบาะแสและผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง
  3. บริษัทจะไม่กระทำการใดอันไม่เป็นธรรมต่อผู้แจ้งเบาะแสและผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะโดยการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงาน ลักษณะงาน สถานที่ทำงาน สั่งพักงาน ข่มขู่ รบกวนการปฏิบัติงาน เลิกจ้าง หรือกระทำการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้แจ้งเบาะแสและผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง
  4. ผู้แจ้งเบาะแสและผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง สามารถร้องขอให้บริษัทกำหนดมาตรการคุ้มครองที่เหมาะสมได้ หากเห็นว่าตนอาจได้รับความไม่ปลอดภัย หรืออาจเกิดความเดือดร้อนเสียหาย หรือบริษัทอาจกำหนดมาตรการคุ้มครองโดยที่ผู้แจ้งเบาะแสและผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ต้องร้องขอก็ได้ หากเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีแนวโน้มที่จะเกิดความเสียหายหรือความไม่ปลอดภัย

 

การแจ้งเบาะแสอันเป็นเท็จ

     ผู้แจ้งเบาะแสและผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ย่อมตระหนักและเข้าใจเป็นอย่างดีว่า การแจ้งเบาะแสจะต้องกระทำโดยสุจริต ไม่มีเจตนากลั่นแกล้งบริษัทหรือบุคคลใด ๆ หรือโดยมีเจตนาไม่สุจริต ไม่เป็นธรรม หากผู้แจ้งเบาะแสได้ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ บริษัทจะดำเนินการตามขั้นตอนและระเบียบของบริษัทหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามความเหมาะสมของแต่ละกรณี

 

การทบทวนนโยบาย

     บริษัททบทวนนโยบายอย่ำงสม่ำเสมอหรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่มีสาระสำคัญ