หากเคยเป็นโรคติดเชื้อ COVID-19 แล้ว จะสามารถทำประกันได้หรือไม่?

เนื่องจาก COVID-19 เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นใหม่ ทำให้ความรู้ทางการแพทย์นั้นยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการระบาดของโรคในปัจจุบันนี้ ดังนั้นแนวทางการพิจารณารับประกันจึงมีโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนตามความรู้ ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ ด้วยเหตุนี้ จึงขออธิบายเกี่ยวกับแนวทางในปัจจุบัน
 
โรค COVID-19 เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรน่าที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก โดยจะส่งผลให้ผู้ได้รับเชื้ออาจจะไม่มีอาการอะไรเลย หรือเจ็บป่วยรุนแรง จนกระทั่งเสียชีวิต  ซึ่งการเจ็บป่วยรุนแรงนั้นก็มีได้หลายระดับ ตั้งแต่การป่วยเป็นปอดอักเสบแบบที่ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือป่วยเป็นปอดอักเสบจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ไปจนถึงป่วยรุนแรงจนมีความเสียหายในหลาย ๆ อวัยวะ
 
เมื่อเราทราบแล้วว่าการเจ็บป่วยนั้นมีหลายระดับหลายความรุนแรง ทำให้แนวปฏิบัติในการรับประกันนั้นจึงมีความแตกต่างกันไป โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการอะไรเลยหรือป่วยเล็กน้อยที่ไม่พบความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ ก็จะเป็นกลุ่มที่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิจารณารับประกันได้ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปหลังจากการเจ็บป่วย COVID-19 สิ้นสุดลง ทั้งในการพิจารณาด้านประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันโรคร้ายแรง โดยต้องทำการแนบประวัติการรักษาในครั้งนั้นมาด้วยทุกครั้ง

ส่วนในกลุ่มที่มีติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หรือต้องรักษาตัวในห้องผู้ป่วยหนัก (ไอ.ซี.ยู) จำเป็นที่ต้องรอตั้งแต่ 6 เดือนเป็นต้นไป เพื่อที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณารับประกันทั้งประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือประกันโรคร้ายแรง โดยจะต้องแนบเอกสารทางการแพทย์เพื่อประกอบการพิจารณาทั้งในช่วงที่ป่วยรุนแรง และเอกสารทางการแพทย์ที่นัดติดตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ผลเอกซ์เรย์ปอด ผลเลือด
 
สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกท่านปลอดภัยจากโรคร้ายนี้จนกว่าจะได้รับวัคซีนกันนะครับ

ขอขอบคุณข้อมูล :
นพ.คงศักดิ์ เตชะวิบูลย์ผล ผู้อำนวยการอาวุโสศูนย์บริการการแพทย์ บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด(มหาชน)